คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม

คณะศิลปศาสตร์เดิมเป็นสถาบันราชภัฏ ๑ ใน ๕ สถาบันราชภัฏที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยได้ประกาศเป็นสถาบันราชภัฏนครพนม ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฏีกา เล่มที่ ๑๑๘ ตอนที่ ๕๙ ก วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔ สถาบันราชภัฏนครพนมเป็นสถาบันอุดมศึกษา สังกัดสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏกระทรวงศึกษาธิการมีภารกิจตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พุทธศักราช ๒๕๔๔ มาตรา ๗ “ให้สถาบันราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงทำการวิจัยให้บริการวิชาการแก่สังคมปรับปรุงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู”

สถาบันราชภัฏนครพนม ดำเนินภารกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกและสังคม ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี ซึ่งกระแสเหล่านี้มีผลกระทบต่อทุกส่วนของสังคมรวมทั้งของสถาบันราชภัฏ นครพนม จากสภาวะการณ์ของโลกยุคโลกาภิวัตน์ สภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลต้องบริหารประกาศภายใต้ขีดจำกัดด้านงบประมาณ กอรปกับรัฐบาลมีแนวนโยบายในการปฏิรูปการเมือง รูปแบบราชการและการปฏิรูปการศึกษา โดยมีสาระสำคัญตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๔๒ ที่กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ สถาบันราชภัฏนครพนมจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาสถาบันทั้งทางด้านคุณภาพและ ศักยภาพในการจัดการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการพิจารณาองค์การในภาพรวมให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อจะได้ผลักดันให้สถาบันพัฒนาก้าวหน้าต่อไป

การยกฐานะสถาบันราชภัฏ เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏพุทธศักราช ๒๕๔๗ ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๑ ตอนพิเศษ ๒๓ ก ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๗ จึงมีผลให้สถาบันราชภัฏนครพนมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครพนม ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๗ หลังจากนั้นในวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๘ ได้มีการหลอมรวมสถาบันการศึกษาที่อยู่ในจังหวัดนครพนม

การจัดตั้งมหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครพนมได้รับการยกฐานะขึ้นตามพระราช บัญญัติมหาวิทยาลัย ราชภัฏ พุทธศักราช ๒๕๔๗ ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑ ตอนพิเศษ ๒๓ ก ลงวันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๗ นับเนื่องมาจนกระทั่ง วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๘ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนครพนม พุทธศักราช ๒๕๔๘ ให้รวมมหาวิทยาลัยราชภัฎนครพนมวิทยาเขตนครพนมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาลัยเทคนิคนครพนม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครพนม วิทยาลัยการอาชีพธาตุพนม วิทยาลัยการอาชีพนาหว้า และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี มาจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยนครพนม โดยได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๗๕ ก ลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๘

ปรัชญา

คุณธรรม นำปัญญา สร้างคุณค่าความเป็นมนุษย์

วิสัยทัศน์

องค์กรแห่งความเป็นเลิศการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของประเทศ

พันธกิจ

๑. ผลิตบัณฑิต สร้างบัณฑิตที่มีทักษะสูง ด้านการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ตอบโจทย์การพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ท้องที่หรือท้องถิ่น มีความสามารถทางวิชาการและทักษะวิชาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรม สู่สังคมแห่งภูมิปัญญา
๒. พัฒนาการวิจัยและนวัตกรรม สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สามารถนำไปจัดการเรียนการสอน บริการวิชาการแก่สังคมและพัฒนาเชิงพื้นที่
๓. พัฒนาการให้บริการวิชาการแก่สังคม พัฒนาการให้บริการวิชาการแก่สังคมที่สอดคล้อง กับความต้องการและความจำเป็นในการแก้ไข ปัญหาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและชุมชนในพื้นที่ (Local need)
๔. ส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์และพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและพื้นที่
๕. การบริหารจัดการที่ดีด้วยหลักธรรมาภิบาล
     ๑) พัฒนาการบริหารและการจัดการบนฐานความรู้และนวัตกรรม
     ๒) พัฒนาศักยภาพการเงินและงบประมาณ
     ๓) พัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพ
     ๔) ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของคณะให้สูงขึ้น
     ๕) พัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

เอกลักษณ์คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

“ คณะแห่งการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ ด้านมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ ”

อัตลักษณ์คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

“ จิตอาสา พัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ พร้อมทักษะการทำงาน ”

ค่านิยมร่วม (Shared Value) คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (FLAS)

     F = Fresh ความมีชีวิตชีวา
     L = Learning การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
     A = Accountability ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
     S = Success ความสำเร็จ

กลยุทธ์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม

     ๑) สร้างบัณฑิตที่มี คุณธรรม จริยธรรม มีทักษะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาท้องที่หรือท้องถิ่น มีความสามารถทางวิชาการ และทักษะวิชาชีพ
     ๒) ส่งเสริมบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการผลิตผลงานวิชาการด้านมนุษย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เพื่อพัฒนาพื้นที่หรือท้องถิ่น และสร้างนวัตกรรมสู่สังคม
     ๓) ส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย และด้านการบริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ ที่สอดคล้องกับความต้องการ และความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและชุมชนในพื้นที่
     ๔) ส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพด้วยหลักธรรมาภิบาล สร้างความผาสุขในสถานที่ทำงานและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง