คณบดีคณะศิลปศาสตร์ฯ เข้าร่วมกิจกรรม "เปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่เชิงประวัติศาสตร์และนิเวศวัฒนธรรมของพื้นที่หลุบอีเลิด"
หมวด : กิจกรรม    เผยแพร่เมื่อวันที่ : 12/25/2023    เวลา : 10:05:15 AM

วันที่ 22 ธันวาคม 2566 คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม จัดงานแถลงกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และนิเวศวัฒนธรรมของพื้นที่หลุบอีเลิด : ตามรอยเส้นทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเทือกเขาภูพาน” โดยมีนายโกเมณ ชาลี นายอำเภอนาแก เป็นประธานเปิดงาน มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวุฒิ อินทนนท์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กล่าวรายงาน ณ บริเวณเชิงเขาภูพาน ริมอ่างเก็บน้ำห้วยวังแปว บ้านจอมศรี ตำบลก้านเหลือง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวุฒิ อินทนนท์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และนิเวศวัฒนธรรมของพื้นที่หลุบอีเลิด : ตามรอยเส้นทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเทือกเขาภูพาน” เป็นโครงการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม ที่ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม เพื่อผลักดันสถานที่สำคัญดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวได้เดินป่าเข้าชมความงดงามของเส้นทางทางธรรมชาติ และศึกษาข้อมูลอันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเส้นทางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในสมัยช่วงปี พ.ศ. 2508 – 2523 โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคการเมือง และภาคประชาชน ดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2566 โดยกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการคืนข้อมูลจากกระบวนการดำเนินงานทั้งหมดของโครงการ และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่ภาคส่วนต่าง ๆ สร้างการรับรู้และแนะนำแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดนครพนม เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนท้องถิ่นตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่หลุบอีเลิดที่มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงคุณค่า หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในชุมชนท้องถิ่นมาหลายชั่วอายุคน

นายโกเมณ ชาลี นายอำเภอนาแก กล่าวว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการบริหารจัดการ "ทุน" เดิมของชุมชนท้องถิ่น ทั้งทุนทรัพยากรธรรมชาติ ทุนทางวัฒนธรรม และทุนทางสังคม เพื่อนำมาเป็นฐานในการกำหนดแนวทางทางการขับเคลื่อนพัฒนาท้องถิ่น โดยใช้การจัดการท่องเที่ยวเป็นวิธีการ ซึ่งการดำเนินงานลักษณะนี้มีความสอดคล้องกับ "ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580)" ที่เน้นใช้แนวคิด 3 ประการ คือ ต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบัน และสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต ซึ่งหากบริหารจัดการให้ดีก็จะช่วยทำให้เกิดการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เพื่อสร้างและพัฒนาสินค้าและบริการด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และการบริหารจัดการสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ให้เป็นทุนในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศ

ด้าน นายณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี อาจารย์สาขาวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า ช่วงระหว่างการดำเนินงานที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยทีมนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผายล ได้สำรวจเส้นทางบนเทือกเขาภูพาน ศึกษาข้อมูลเส้นทาง สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ พบสถานที่สำคัญหลายแห่งที่น่าสนใจในทางประวัติศาสตร์ และสามารถสร้างเป็นเส้นทางท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจ เช่น ถ้ำพวง หินโจมแปะ ถ้ำผีหลอก รอยเมย หลุบอีเลิด หมุดทางทหาร ถ้ำไฮ ถ้ำทอง ถ้ำร้อยเตียง และจุดชมวิวที่สูงที่สุดบนเทือกเขาภูพาน คือ ลานหินแตก มีลักษณะคล้ายหินที่แตกแยกจากกันหลายจุด และเป็นจุดชมวิว 360 องศา สามารถชมพระอาทิตย์ ขึ้น-ลง ได้อย่างสวยงาม ซึ่งพื้นที่โดยรอบของลานหินแตกสามารถใช้เป็นจุดกางเต็นท์ หรือผูกเปลนอนพักแรมในยามค่ำคืนได้ หากเป็นช่วงหน้าหนาวอากาศจะหนาวเย็นมาก เหมาะกับนักท่องเที่ยวสายเดินป่าอย่างแท้จริง เพราะระยะทางจากเนินเขาข้างล่างขึ้นไปยัง “ลานหินแตก” รวมระยะทาง 10 กิโลเมตร

ซึ่งการเดินป่าศึกษาธรรมชาติและความเป็นมาของประวัติศาสตร์แห่งนี้ ต้องใช้เวลา 3 วัน 2 คืน หรือ 2 วัน 1 คืน (ตามเส้นทางที่เลือกเข้าชม) ส่วนการเตรียมตัวควรมีการวอร์มร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากทางเดินค่อนข้างสูงและชัน สำหรับอาหารควรเป็นอาหารแห้ง และสิ่งของเครื่องใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น สำคัญที่สุดคือน้ำดื่มที่แต่ละคนต้องมีติดตัวอย่างน้อยคนละ 3 ขวด (ขวด 1.5 ลิตร) ถึงจะเพียงพอ

“หลุบอีเลิด” เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน มีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ ปัจจุบันมีอุทยานแห่งชาติภูผายล ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นหน่วยงานดูแล ครอบคลุมพื้นที่หลายตำบลของอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และบางส่วนของตำบลดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางฐานบัญชาการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในเขตพื้นที่ภูพาน และอีสานเหนือ ช่วงทศวรรษ 2500-2520 มีความโดดเด่นชัดเจนในเรื่องของเรื่องราว (สตอรี่) ที่ว่าด้วยความขัดแย้งและการต่อสู้ทางความคิดของลัทธิทางการเมือง ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเขตภูพาน และอีสานเหนือกับรัฐไทย ทั้งยังมีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ และมีสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ระดับภูมิภาคและระดับโลกในช่วงเวลานั้น ซึ่งภายหลังความขัดแย้งได้คลี่คลายสงบลงในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันพี่น้องอดีตสหายได้ออกจากป่าและหันมาเป็นผู้ร่วมกันพัฒนาชาติไทย

ทั้งนี้ กิจกรรมบนเวทียังมีการเสนา เรื่อง “หลุบอีเลิด : จากพื้นที่ความทรงจำสู่เส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และนิเวศวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาตามแนวทาง BCG อย่างยั่งยืน” จากผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ อาทิ นายชูกัน กุลวงษา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม เขต 4 นายปราโมทย์ พรมพินิจ ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (สหายหมอรับรอง) นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนม และ ดร.สุริยา คำหว่าน อาจารย์ประจำสาขาวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มีนายณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี อาจารย์สาขาวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งลาวัลย์ เอี่ยมกุศลกิจ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประกันคุณภาพการศึกษา ร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ทั้ง 7 แห่ง ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (สหาย) รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 200 คน

ภาพ/ข่าว : พัฒนะ พิมพ์แน่น