ห้องภาพกิจกรรม

คณบดีคณะศิลปศาสตร์ฯ เข้าร่วมการเปิดตัวโครงการ“การขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะที่มีจุดเน้นสำคัญ สานพลังภาคียุทธศาสตร์ จังหวัดนครพนม”

  • 20 เมษายน 2565
  • 22:13:43
  • 779

วันที่ 20 เมษายน 2565 ที่ห้องประชุมโพนสวรรค์ โรงแรมพักพิงอิงโขง เขตเทศบาลเมืองนครพนม นายวรรณพล ต่อพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมเปิดตัวโครงการ“การขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะที่มีจุดเน้นสำคัญ สานพลังภาคียุทธศาสตร์ จังหวัดนครพนม” ซึ่งจัดโดยหน่วยจัดการจังหวัดระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship)จังหวัดนครพนม สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 6 สำนักสร้างสรรค์โอกาส

        โดย ดร.วรวุฒิ อินทนนท์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ในนามที่ปรึกษาโครงการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะที่มีจุดเน้นสำคัญ สานพลังภาคียุทธศาสตร์ จังหวัดนครพนม กล่าวว่า สืบเนื่องจากภาคีเครือข่ายวิชาการ ภาคประชาสังคมและส่วนราชการจังหวัดนครพนม ในฐานะกลไกคณะทำงานหน่วยจัดการจังหวัดระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship) จังหวัดนครพนม โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. สำนัก 6 สำนักสร้างสรรค์โอกาส ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหน่วยส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพ 2 ประเด็นหลัก คือ 1.ประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ คือ เกิดการเชื่อมประสานระหว่างภาคียุทธศาสตร์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในจังหวัดนครพนม ภายใต้วาระ “ผู้สูงอายุสุขภาพดี” และ 2.ประเด็นการจัดการขยะ โดยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ คือ ปริมาณขยะในจังหวัดนครพนมลดลงร้อยละ 5 และเกิดโมเดลการจัดการขยะระดับเมืองรองภายใต้แนวคิด “สร้างเมืองสะอาดสู่การจัดการขยะระดับเมืองรอง”

        ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดนครพนม โดยการดำเนินโครงการฯ จะมีการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งให้กับชุมชน องค์กรและหน่วยงานในพื้นที่ของจังหวัดนครพนมที่สนใจจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ โดยกระจายทั้ง 12 อำเภอในจังหวัดนครพนม

        ดร.วรวุฒิ อินทนนท์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดเวทีเปิดตัวโครงการฯ ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทั่วไปและสังคมสาธารณะในจังหวัดนครพนม โดยเฉพาะชุมชน องค์กรและหน่วยงานที่สนใจจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ได้รับรู้กระบวนการ แนวทางการขับเคลื่อน เงื่อนไขการรับโครงการย่อยและผลลัพธ์ที่คาดหวัง เพื่อเตรียมออกแบบกระบวนการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต

        สำหรับความเป็นมาของโครงการดังกล่าวนี้ หลังสำรวจพบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 13.56 ขณะที่ปริมาณขยะประมาณ 2.7 แสนตันต่อปี ดังนั้น หน่วยจัดการจังหวัด ระดับที่มีจุดเน้นสำคัญ (Node Flagship) จังหวัดนครพนม จึงเกิดจากการรวมตัวของภาควิชาการ ภาคราชการ และกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) สำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำหน้าที่เป็นตัวแทน สสส.ในการเป็นกลไกระดับจังหวัดที่มีขีดความสามารถในการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ประเด็นสุขภาวะของพื้นที่ เริ่มดำเนินงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชนในจังหวัดนครพนม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 จนถึงปัจจุบัน

        โดยมีผลการดำเนินงานในปีที่ 1 พ.ศ.2564 ได้สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับชุมชน องค์กร จำนวน 2 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ ประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพพฤติกรรมที่พึงประสงค์สำหรับผู้สูงอายุ และประเด็นการจัดการขยะ รวมทั้งสิ้นจำนวน 25 โครงการ ผลลัพธ์ได้เกิดรูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพพฤติกรรมที่พึงประสงค์สำหรับผู้สูงอายุ เกิดพื้นที่ต้นแบบที่พร้อมยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และเกิดรูปแบบการจัดการขยะโดยชุมชน ปรากฏว่ามีชุมชนและสถานประกอบการเข้าร่วม 6,363 ครัวเรือน พบว่าบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ขยะลดลงร้อยละ 15 เกิดโมเดลระดับเมืองรอง 1 โมเดล

        เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 พ.ศ.2565 จึงเป็นการต่อยอดจากการดำเนินงานใน 2 ประเด็นเดิม ได้แก่ 1.ประเด็นยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ เน้นให้ผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคมและติดบ้าน มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ (ออกกำลังกาย,อาหาร,น้ำดื่ม,ไม่สูบบุหรี่,ไม่ดื่มแอลกอฮอล์)ร้อยละ 80 ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมดของจังหวัดนครพนม โดยจะสนับสนุน 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ระดับหมู่บ้าน จำนวน 4 โครงการ งบประมาณโครงการละ 60,000 บาท ประเภทที่ 2 ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 5 โครงการ งบประมาณโครงการละ 125,000 บาท ประเภทที่ 3 ระดับ อปท.และ รร.ผู้สูงอายุหรือชมรมผู้สูงอายุที่มีความเข้มแข็ง งบประมาณโครงการละ 130,000 บาท และ ประเภทที่ 4 ระดับศูนย์เรียนรู้ จำนวน 2 โครงการๆละ 155,000 บาท.