ห้องภาพกิจกรรม

สาขาวิชาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมจัดกิจกรรมบูรณาการการเรียนรู้ประสบการณ์งานวิจัยภาคสนามของนักศึกษา หลักสูตรนวัตกรรมการพัฒนาสังคม

  • 21 สิงหาคม 2566
  • 20:50:47
  • 780

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2566 คณาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรนวัตกรรมการพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 34 คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์งานวิจัยภาคสนามกับคณาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมชั้นปีที่ 3 และ 4 คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม จำนวน 36 คน ณ ห้องประชุมพนมศิลป์ ชั้น M อาคาร 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งกิจกรรมนี้ถือเป็นความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยระหว่างคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 70 คน
          กิจกรรมนี้คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม ได้มอบหมายให้ ดร.คณิน เชื้อดวงผุย รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิจัยและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ให้เกียรติกล่าวต้อนรับและร่วมกิจกรรมตลอดทั้งวัน กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย กิจกรรมสัมมนาเชิงวิชาการหัวข้อ “แม่น้ำโขง ชีวิตแม่น้ำและชีวิตผู้คน” ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาแม่น้ำโขงในมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ มิติของการพัฒนาแม่น้ำโขง ผลกระทบ ความล้มเหลวและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งแม่น้ำโขงในฐานะพรมแดน ชาติสมัยใหม่ รัฐ ประเทศและสถานะบุคคล กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หัวข้อวิจัยของนักศึกษา 2 สถาบัน ซึ่งจำแนกออกเป็น 4 กลุ่มประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรงงาน เพศและวัย ความเชื่อ และการจัดการ การนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเด็นทั้งประสบการณ์การทำวิจัยภาคสนาม อย่างเช่น การเลือกหัวข้อ แนวคิดหรือทฤษฎีการวิจัย การออกแบบการวิจัย เทคนิคและกลยุทธ์การทำวิจัย ประโยชน์ของงานวิจัย และประมวลภาพรวมกระบวนการทำงานวิจัยภาคสนามของนักวิจัยสายสังคมศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมต้อนรับคณาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรนวัตกรรมการพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญตามวัฒนธรรมและความเชื่อเกี่ยวกับการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนอย่างอบอุ่น
          ทั้งนี้ คณาจารย์และนักศึกษาทั้ง 2 สถาบันมีแผนความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยร่วมกันในระยะต่อไป ทั้งความร่วมมือการทำวิจัยในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำวิจัยภาคสนามระหว่างนักศึกษา ความร่วมมือด้านการเรียนการสอน การฝึกประสบการณ์วิชาชีพหรือสหกิจศึกษาในปีต่อไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเข้มแข็งทางวิชาการและการวิจัยในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในอนาคตร่วมกันด้วย