ห้องภาพกิจกรรม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หารือแนวทางความร่วมมือกระบวนการพัฒนาเชิงพื้นที่และการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายภาคอีสาน

  • 05 พฤษภาคม 2566
  • 23:13:07
  • 779

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 เวลา 10.00 – 12.00 น. ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ จำนวน 4 คน เข้าพบอาจารย์สมยศ สีแสนซุย รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือกระบวนการพัฒนาเชิงพื้นที่และการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายภาคอีสานขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวุฒิ อินทนนท์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.คณิน เชื้อดวงผุย อาจารย์ ดร.อนุวัฒน์ พลทิพย์ และคณาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญจยามาศ พิลายนต์ และอาจารย์ตรีนุช คำทะเนตร ร่วมหารือด้วย

           สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) มีบทบาทในการสร้างกลไกเชื่อมร้อยภาคีเครือข่ายสุขภาวะในระดับภูมิภาค ซึ่งกระบวนการดำเนินงานจะเชื่อมโยงกับนักวิชาการในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ภาคประชาสังคมและภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานสุขภาวะในแต่ละภูมิภาค ดำเนินภารกิจหลัก 3 ประการ คือ 1) ขยายเครือข่าย โดยการสร้างกลไกร่วมในการพัฒนางานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่สร้างความยั่งยืนในการขับเคลื่อนงานสุขภาวะในแต่ละภูมิภาค 2) ยกระดับการทำงาน โดยสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายในการจัดทำแผนยกระดับการทำงานในการขับเคลื่อนงานสุขภาวะในพื้นที่และการจัดเวทีวิชาการสาธารณะร่วมกัน และ 3) สร้างความผูกพันภาคี โดยมุ่งเน้นให้ภาคีเครือข่ายรู้จักกัน สร้างการมีส่วนร่วมและเกิดสัมพันธ์อันดีระหว่างภาคีเครือข่าย และ สสส.

           ทั้งนี้ จากการหารือในครั้งนี้ได้แนวทางและวิธีการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) และมหาวิทยาลัยนครพนม ประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1) สนับสนุนงานวิชาการ ทั้งการหนุนเสริมข้อมูลทางวิชาการและหนุนเสริมศักยภาพภาคี 2) เชื่อมร้อยเครือข่าย โดยการออกแบบกิจกรรม/กระบวนการเพื่อเชื่อมร้อยภาคีเครือข่าย 3) จัดทำฐานข้อมูล คือ ฐานข้อมูลภาคี องค์ความรู้ พื้นที่แหล่งเรียนรู้สำคัญ ฯลฯ และ 4) การสื่อสารกระบวนการขับเคลื่อนงานพัฒนาเชิงพื้นที่และการเชื่อมประสานภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคอีสานทั้งการสื่อสารภายในและการสื่อสารสังคมสาธารณะภายนอก และเพื่อให้การดำเนินงานขับเคลื่อนเกิดรูปธรรมร่วมกัน จึงจะมีการดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการบริการวิชาการแก่สังคมระยะต่อไป